คำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับโรงเรียนการบินญี่ปุ่น | Japan Aviation Academy

(*หมายเหตุ ผู้แปลเลือกใช้ระบบ ม. 4-5-6 แบบไทยในเอกสารนี้ แทน มัธยมปลายปี 1-2-3 แบบญี่ปุ่น เพื่อความสะดวกและเข้าใจง่ายของผู้อ่าน)

[เกี่ยวกับการเรียน]

Q: การแบ่งระดับชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นหลังจากเข้าเรียนแล้วเป็นอย่างไร

ตัวอย่างจากปีก่อนคือ แบ่งออกเป็นสองชั้น  (ชั้น A เริ่มจากช่วงกลางของระดับต้น และ ชั้น B เริ่มจากพื้นฐานเลย) หลังจากเข้าเรียน จะมีการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นเพื่อแบ่งชั้น (สอบด้วยภาษาญี่ปุ่น) และนักเรียนจะถูกแบ่งระดับตามคะแนนที่ได้ แต่ว่า เมื่อเริ่มชั้นเรียนไปแล้ว อาจจะมีการเปลี่ยนระดับจากความสามารถในชั้นเรียนด้วย

Q: ชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

เพื่อที่จะใช้ชีวิตในโรงเรียนและหอพักได้อย่างราบรื่น ก่อนอื่น การเรียนภาษาญี่ปุ่นก็จำเป็นอย่างมาก ซึ่ง เมื่อนักเรียนเข้าเรียนที่โรงเรียน จะต้องเน้นไปที่การเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นหลักในช่วง 1 ปีแรก ซึ่งความคืบหน้าจะต่างไปตามความสามารถในการเรียน โดยพื้นฐานแล้ว ถ้าเทียบกับระดับการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น (JLPT) ในเดือนธันวาคมแล้ว ชั้น A จะเทียบเท่าระดับ N2 (เรียนจบชั้นกลาง) หรือ N3 (กำลังเรียนระดับกลาง) และชั้น B จะประมาณระดับ N4 (เรียนจบชั้นต้น)

พอขึ้นชั้น ม. 5 จะมีชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่นราว 6-8ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามสายวิชาที่เรียนว่าเป็นสายวิทย์หรือสายศิลป์ และเป้าหมายคือสอบการวัดระดับความรู้ภาษาญี่ปุ่นระดับ N1 หรือ N2 ให้ผ่าน สำหรับนักเรียนชั้น ม. 6 จะเรียนภาษาญี่ปุ่นสัปดาห์ละ 4-8 ชั่วโมง นอกจากจะมุ่งเน้นเพื่อสอบให้ผ่านการวัดระดับภาษาญี่ปุ่นระดับ N1 แล้ว ยังมีการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นที่จำเป็นต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย (เช่นการเขียนเรียงความ หรือสอบสัมภาษณ์)

อนึ่ง สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถทางภาษาญี่ปุ่นสูง (ระดับ N2 ขึ้นไป) ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น

Q:  เรียนวิชาสามัญอะไรบ้าง

สำหรับวิทยาเขตยามานาชิ นักเรียนชั้นม. 4 จะได้เรียนวิชา คณิตศาสตร์ พลศึกษา ศิลปะป้องกันตัว ดนตรี การเขียนอักษร และวิชาเลือก (ตีกลองญี่ปุ่น หรือชงชา เป็นต้น) ตั้งแต่เข้าศึกษาที่โรงเรียน สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ และ ดนตรี เป็นนเรียนเรียนเฉพาะนักเรียนต่างชาติเท่านั้น โดยเลี่ยงการใช้ภาษาญี่ปุ่น เมื่อเข้าภาคการศึกษาที่ 2 (เดือนตุลาคม) จะเพิ่มวิชาพื้นฐานเข้าไป ตัวอย่างจากปี 2553 คือ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ ทำการสอนโดยใช้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่นควบคู่กันในการสอน อนึ่ง สำหรับนักเรียนที่มีทักษะทางภาษาญี่ปุ่นดีมากตั้งแต่แรก จะได้ร่วมเรียนกับนักเรียนญี่ปุ่นแต่แรก สำหรับชั้นม. 5 และ ม. 6 จะแบ่งออกเป็นสายวิทย์และสายศิลป์ โดยพื้นฐานแล้ว เรียนวิชาสามัญเหมือนกับนักเรียนญี่ปุ่น แต่ว่า ตัวอย่างจากปี 2553 สำหรับวิชา ศีลธรรมและจริยธรรม ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และประวัติศาสตร์โลก จะเป็นชั้นเรียนเฉพาะนักเรียนต่างชาติ  อนึ่ง สำหรับทั้งสองสายแล้ว วิชาภาษาญี่ปุ่น (สำหรับนักเรียนญี่ปุ่น) จะเป็นวิชา ภาษาญี่ปุ่น (สำหรับนักเรียนต่างชาติ)

[เกี่ยวกับการเข้าศึกษา]

Q: เข้าเรียนเดือนกันยายนได้หรือไม่

โรงเรียนญี่ปุ่น เริ่มการศึกษาเดือนเมษายน และจบการศึกษาเดือนมีนาคม ดังนั้น การเข้าเรียนจะเป็นเดือนเมษายน สำหรับประเทศที่ระบบการศึกษาจบในเดือนมิถุนายน จะต้องรอเข้าเรียนในเดือนเมษายนปีถัดไป โดยเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ประเทศของตนเพื่อเตรียมเข้าเรียน หรือเรียนมัธยมปลายที่ประเทศของตัวเองก่อนจะลาออกเพื่อเข้าเรียนในญี่ปุ่น

Q: ค่าใช้จ่ายในช่วงเข้าเรียนเป็นจำนวนเท่าไหร่

1,400,000 เยน (ต่อปี) ซึ่งจะครอบคลุมค่าเครื่องแบบ ค่าตำราเรียน ค่าหอพัก และค่าอาหาร อนึ่งสำหรับของใช้ในชีวิตประจำวันเช่น แชมพู หรือผงซักฟอก เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ครอบครัวนักเรียนต้องจ่ายเอง

(ข้อมูลเสริม: สำหรับนักเรียนญี่ปุ่น จะจ่ายค่าใช้จ่ายต่อปีราว 2,000,000 เยน ซึ่งในกรณีที่นักเรียนญี่ปุ่นจะอาศัยในหอพักในช่วงปิดภาคการศึกษา จะมีค่าอาหารต่างหาก (มื้อเช้า 550 เยน มื้อเที่ยง 700 เยน และมื้อเย็น 650 เยน) แต่สำหรับนักเรียนต่างชาติ จะรวมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้ว)

Q: ข้อแตกต่างของวิทยาเขตยามานาชิ (จังหวัดยามานาชิ) และวิทยาเขตสนามบินโนโตะ ?

สำหรับวิทยาเขตยามานาชิจะเน้นที่การเรียนการสอนสายสามัญเพื่อเตรียมตัวเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย จะแบ่งเป็น หลักสูตรกีฬา หลักสูตรภาษาอังกฤษ หลักสูตรวิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนต่อ และหลักสูตรการบิน สำหรับหลักสูตรกีฬาไม่ได้เน้นแค่เข่งในจังหวัด แต่มีหลายชมรมกีฬาที่มีความสามารถถึงเข้าแข่งกีฬาระดับชาติเรื่อยๆ

สำหรับวิทยาเขตโนโทจะเน้นที่การเรียนการสอนเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่จัดเตรียมเครื่องบิน ในหลักสูตร “วิศวกรรมการบิน” เพื่อเตรียมเป็นเจ้าหน้าที่จัดเตรียมเครื่องบิน จะแยกเป็น วิชาเอกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้าและอีเลคทรอนนิคส์แห่งการบิน และวิชาเอกช่างกลศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมี “หลักสูตรสามัญ” สำหรับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งจะแยกเป็น วิชาเอกเตรียมศึกษาต่อ และวิชาเอกนักบิน สำหรับวิชาเอกนักบิน นักเรียนคือนักเรียนที่ต้องการเป็นนักบินในอนาคตและต้องไปเรียนที่ต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อการสอบใบอนุญาตการบินให้ได้

Q: แต่ละวิทยาเขต ต้องเลือกหลักสูตรเมื่อไหร่

สำหรับนักเรียนญี่ปุ่น จะเลือกตอนเข้าเรียน แต่สำหรับนักเรียนต่างชาติ ปกติแล้วจะเลือกตอนขึ้นเรียนชั้น ม. 5 เนื่องจากทางโรงเรียนเห็นว่า หากนักเรียนเข้าใจภาษาญี่ปุ่น และเนื้อหาการเรียนดีแล้ว เมื่อเลือกหลักสูตร จะเลือกได้ตรงตามความต้องการของตนเองมากกว่า อนึ่ง สำหรับหลักสูตรกีฬาของวืทยาเขตยามานาชิ นักเรียนต้องเลือกเข้าเรียนตั้งแต่ชั้น ม. 4

Q: สำหรับหลักสูตรภาษาอังกฤษของวิทยาเขตยามานาชิ ต้องมีทักษะภาษาอังกฤษประมาณไหน

สำหรับนักเรียนสายสามัญหลักสูตรภาษาอังกฤษ ต้องสอบผ่านการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษระดับ 3 ขึ้นไป หรือผลการเรียนเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษในระดับมัธยมต้นมากกว่า 3.7 แต่ก็จะพยายามคำนึงถึงความต้องการของนักเรียนด้วย

Q: ลักษณะของหลักสูตรกีฬาของวิทยาเขตยามานาชิคือ?

นักเรียนต้องเข้ารวมชมรมกีฬาเพื่อการพัฒนา (มีทั้งหมด 11 ชมรม) และฝึกครั้งละ 5-6 ชั่วโมงต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง (วันจันทร์ พุธ ศุกร์) เพื่อพัฒนาทักษะ และสำหรับหลักสูตรกีฬา ชั่วโมงของชมรมกีฬาสามารถนำไปนับหน่วยกิตได้

[เกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียนและหอพัก]

Q: นักเรียนต่างชาติต้องสังกัดชั้นเรียนกับเด็กญี่ปุ่นหรือไม่

ใช่ นักเรียนต่างชาติต้องสังกัดชั้นเรียนกับเด็กญี่ปุ่น (เช่น ม. 4 ห้อง **) และทางโรงเรียนจะพยายามกระจายนักเรียนต่างชาติไม่ให้กระจุกอยู่ในชั้นเรียนเดียวกัน

Q: กฎระเบียบของโรงเรียนเข้มงวดหรือไม่

มีจุดที่เข้มงวดกว่าโรงเรียนอื่น ทางโรงเรียนทำการสอนเพื่อที่จะได้ตั้งใจเรียนสมกับที่เป็นนักเรียน และเพื่อที่จะได้มีพฤติกรมที่เหมาะสมเมื่อเรียนจบและเข้าสังคม ดังนั้นนักเรียนมีหน้าที่ต้องรักษากฎระเบียบของโรงเรียน กรณีที่ฝ่าฝืนกฎ จะต้องรับโทษ หรือรับการอบรมพิเศษ  (เช่นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ หรือการอบรมจริยธรรม)

Q: นักเรียนทุกคนต้องเข้าร่วมกิจกรรมชมรมหรือไม่

นักเรียนทุกคนต้องเข้าร่วมกิจกรรมชมรม เพื่อที่จะได้ฝึกฝนร่างกาย หาเพื่อน และเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านกิจกรรมชมรม ระหว่างช่วงปิดเทอม จะมีการเก็บตัวฝึกซ้อม ซึ่งอาจจมีค่าใช้จ่ายในการเก็บตัว ค่าเครื่องแบบ หรืออุปกรณ์ต่างกันไปตามชมรม

Q: สามารถกลับประเทศระยะสั้นได้ช่วงไหนบ้าง

นักเรียนสามารถกลับประเทศได้ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน หรือปิดภาคเรียนฤดูหนาว ในกรณีที่ไม่มีกิจกรรมของโรงเรียน หรือการเก็บตัวฝึกซ้อมของชมรม

Q: ในแต่ละเดือนจะต้องใช้ค่าขนมซักเท่าไหร่

ขึ้นอยู่กับตัวนักเรียน แต่มักจะต่างออกไปตามการซื้อของและการใช้โทรศัพท์มือถือของแต่ละคน หากดูจากนักเรียนที่เรียนอยู่ ตกประมาณเดือนล่ะ 2,000 เยน ถึง 10,000 เยน

Q: สามารถพักหอพักห้องเดี่ยวได้หรือไม่

ตามระเบียบแล้ว นักเรียนญี่ปุ่นและนักเรียนต่างชาติจะได้พักรวมกัน 4 คนในห้องเดียว นี่ก็เพื่อการเพิ่มโอกาสในการสนทนากับนักเรียนญี่ปุ่น และจะได้พัฒนาภาษาญี่ปุ่นให้เร็วขึ้น และเพื่อจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมหรือแนวคิดของคนญี่ปุ่นด้วยการพักอาศัยด้วยกัน แน่นอนว่า มีปัญหาระหว่างนักเรียนเช่นกัน แต่เพื่อพัฒนาอุปนิสัยของนักเรียน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็ถือว่าเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง

Q: ช่วงปิดภาคเรียน สามารถพักในหอพักได้หรือไม่

ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิ ปิดภาคเรียนฤดูร้อน นักเรียนสามารถอยู่ในหอพักได้ แต่ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูหนาว ตั้งแต่ช่วงคริสมาสไปจนถึงหลังปีใหม่ หอพักและโรงอาหารจะปิด ดังนั้น ทางโรงเรียนจึงขอความร่วมมือให้กลับประเทศในช่วงดังกล่าว นักเรียนที่ไม่กลับประเทศกรุณาหาที่พักโฮมสเตย์กับเพื่อนนักเรียนญี่ปุ่น หรือครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่รู้จักกับผู้ปกครอง

Q: นักเรียนใช้ชีวิตในวันหยุดอย่างไร

โดยมาก นักเรียนจะเข้าร่วมกิจกรรมชมรม หรือในกรณีที่ไม่มีกิจกรรมชมรม ก็จะพักผ่อนในห้อง ออกไปซื้อของ พักผ่อนตามสบาย แน่นอนว่าก็มีนักเรียนศึกษาด้วยตนเองเช่นกัน การออกไปนอกโรงเรียนในช่วงวันหยุด อนุญาตให้ออกไปได้ตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 17.30 น.

นอกจากนี้ นักเรียนสามารถออกไปพักนอกสถานที่ได้ในช่วงวันหยุดเดือนละหนึ่งครั้ง หากต้องการออกไปพักนอกสถานที่ ต้องยื่นใบขออนุญาตพักนอกสถานที่ก่อน ซึ่งจะสามารถออกไปพักได้ตั้งแต่คืนวันศุกร์ กรณีนักเรียนต่างชาติ ต้องให้ผู้ปกครองส่งโทรสารใบอนุญาตพักนอกสถานที่ให้กับทางโรงเรียน อนึ่ง ในช่วงก่อนสอบอาจจะไม่อนุญาตให้ออกไปพักนอกสถานที่ด้วย กรุณารับทราบจุดนี้ไว้

Q: ตอนเช้า อาบน้ำได้หรือไม่

ที่อาบน้ำของหอพักเป็นที่อาบน้ำรวม (แยกชายหญิง) เวลาอาบน้ำคือ ในเวลาที่กำหนดตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงช่วงค่ำ ดังนั้น จึงไม่สามารถอาบน้ำตอนเช้าได้

Q: สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อจากประเทศของตัวเองได้หรือไม่

มีเครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วนที่ใช้กระแสไฟไม่ตรงกัน จำเป็นต้องใช้เครื่องแปลงไฟ และทำให้ไฟฟ้าในหอพักดับ จึงไม่อนุญาตให้ใช้ นอกจากนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไดร์เป่าผมสามารถซื้อได้ในราคาถูกที่ประเทศญี่ปุ่น อนึ่ง คอมพิวเตอร์แบบพกพามักจะสามารถใช้กับกระแสไฟฟ้าของญี่ปุ่นได้ แต่ต้องซื้อหัวแปลงปลั๊กไฟเพิ่ม

Q: สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้หรือไม่

โรงเรียนอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ว่า ถึงไม่มีก็สามารถใช้ชีวิตในโรงเรียนได้ นักเรียนต่างชาติมักจะเอาไว้ใช้ติดต่อกับครอบครัวเป็นหลัก หลายคนก็ไม่ได้มีไว้ใช้ กรณีที่ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะใช้โทรศัพท์ในประเทศญี่ปุ่น ต้องมีการทำสัญญา ซึ่งบริษัทโทรศัพท์มือถือจะขอเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง อนึ่ง หากนักเรียนวางโทรศัพท์มือถือไว้บนโต๊ะเรียนระหว่างเรียน หรือโทรศัพท์เสียงดังขึ้นในชั้นเรียน จะถูกลงโทษ

Q: ใช้อินเตอร์เน็ตได้หรือไม่

นักเรียนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตในหอพักได้โดยเชื่อมคอมพิวเตอร์ของตนเองเข้ากับ Wi-Fi ซึ่งนักเรียนต่างชาติมักเอาไว้ติดต่อกับครอบครัวตนเอง อนึ่ง นักเรียนจะถูกจำกัดการเข้าเว็บไซต์ที่เป็นอันตราย

Q: หอพักมีทีวีหรือไม่

ไม่มี แต่มีนักเรียนบางส่วนดูผ่านโทรศัพท์มือถือ

Q:   นักเรียนต่างชาติสามารถทำประกันได้หรือไม่

นักเรียนจะได้เข้าระบบประกันสังคมของญี่ปุ่น ซึ่งค่ารักษาพยาบาลจะลดเหลือเพียง 30% ซึ่งจะลงทะเบียนพร้อมกับตอนทำบัตรประจำตัวคนต่างชาติ

[เกี่ยวกับอนาคต]

Q: การศึกษาต่อหลังจากเรียนจบ?

สำหรับนักเรียนต่างชาติ มีทางเลือกทั้ง กลับประเทศของตนเองและต่อมหาวิทยาลัยในประเทศของตน หรือต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ หรือต่อมหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือโรงเรียนวิชาชีพในประเทศญี่ปุ่น ก่อนอื่น สำหรับคนที่ต้องการศึกษาต่อในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ระหว่างที่ศึกษาชั้นมัธยมปลาย ต้องสอบ TOEFL, หรือ IELTS หรือ SAT ในประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น จึงสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อนึ่ง IELTS คือคำย่อของ International English Language Testing System ซึ่งมหาวิทยาลัยโดยมากในประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ใช้ในการประเมินผลนักเรียน ส่วน SAT คือคำย่อของ Scholastic Aptitude Test ซึ่งเป็นระบบการสอบเพื่อวัดผลทักษะทางการศึกษาของนักเรียนเมื่อเรียนจบมัธยมปลายเพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่กลับมาศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในประเทศของตนเอง ระบบจะแตกต่างไปตามประเทศนั้นๆ จึงขอแนะนำให้ตรวจสอบให้ดี

และในการศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น จะมีหลายระบบ มหาวิทยาลัยโดยมากจะไม่ให้สิทธิ์สอบในฐานะนักเรียนต่างชาติแก่นักเรียนต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมในประเทศญี่ปุ่น จึงต้องสอบแบบเดียวกันและแข่งขันกับนักเรียนญี่ปุ่น ดังนั้น การสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชื่อดังจึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่ว่าก็ขึ้นอยู่กับความพยายามของตัวนักเรียนเองด้วย แต่สำหรับการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยระดับกลางนั้นไม่ใช่เรื่องยาก

รายละเอียดของการเข้าศึกษาต่อในระบบเดียวกับนักเรียนญี่ปุ่นจะเป็นดังต่อไปนี้

  1. สอบเข้าเรียนทั่วไป

คือการวัดทักษะทางความรู้ของนักเรียน สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมากแล้ว นักเรียนต้องสอบข้อสอบส่วนกลาง (ต้องสอบ 5 วิชา) และต้องเข้าสอบการสอบที่จัดขึ้นตามมหาวิทยาลัยอีกด้วย กรณีมหาวิทยาลัยเอกชน ในการเข้าศึกษาก็มีหลายระบบ เช่นสอบเฉพาะข้อสอบของมหาวิทยาลัย หรือมีกรณีที่ใช้ผลการสอบส่วนกลางด้วย การสอบมักจะมีช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์

  1. การเข้าศึกษาด้วยวิธี AO และการเข้าศึกษาด้วยวิธีนำเสนอตนเอง

เข้าศึกษาด้วยวิธี AO คือการเข้าศึกษาโดยที่ไม่ต้องใช้จดหมายแนะนำจากผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นการพิจารณาโดยคำนึงถึงความเข้ากันได้กับกับสาขาวิชาที่ต้องการศึกษา ความมุ่งมั่น หรือเจตจำนงค์ที่มีต่อสาขาวิชา นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมักจะขอรายละเอียดเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมจึงต้องการศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าว  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมนอกหลักสูตร (เช่นการวิจัยในสาขาที่สนใจ) การพิจารณาเข้าเรียนโดยมากแล้วมักจะพิจารณาจากเอกสาร สอบสัมภาษณ์ และเรียงความสั้น นอกจากนี้ยังมีกรณีการไปปรึกษากับมหาวิทยาลัยในช่วงที่มีการเปิดให้ทัศนศึกษาในมหาวิทยาลัย (Open Campus) การเขียนรายงาน หรือการทำงานพรีเซนเทชั่น โดยมากมักจะรับสมัครเร็ว เช่นตั้งแต่ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนของชั้นม. 6 (เดือนสิงหาคม) ซึ่งก็มีนักเรียนของโรงเรียนที่สามรถเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังได้ด้วยวิธีดังกล่าวเช่นกัน

การเข้าศึกษาด้วยวิธีนำเสนอตนเอง คล้ายกับวิธี AO ไม่ต้องใช้จดหมายแนะนำตัวจากผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นการพิจารณาโดยให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพและทักษะมากกว่าผลการเรียน ยกตัวอย่างเช่นนักเรียนที่มีความสามารถด้านการศึกษา ภาษาอังกฤษ ศิลปะ หรือกีฬาเป็นต้น มหาวิทยาลัยมักจะขอรายละเอียดจนถึงระดับมัธยมปลาย ดังนั้น จะเน้นไปที่ผลของกิจกรรมชมรมหรือใบอนุญาตต่างๆ การพิจารณาเข้าเรียนโดยมากแล้วมักจะพิจารณาจากเอกสาร สอบสัมภาษณ์ และเรียงความสั้น มักจะเริ่มรับสมัครช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน

  1. การเข้าศึกษาด้วยการแนะนำตัวจากโรงเรียนที่ถูกคัดเลือก

เป็นระบบที่มหาวิทยาลัยเลือกโรงเรียนมัธยมปลาย และให้โควต้าเข้าเรียนสำหรับนักเรียนในโรงเรียนนั้น ซึ่งจะทำการคัดเลือกนักเรียนในโรงเรียน และให้ผู้อำนวยการเป็นผู้ส่งจดหมายแนะนำนักเรียนให้แก่ทางโรงเรียน ที่โรงเรียนการบินญี่ปุ่น ทุกๆปี จะให้โควต้าแก่นักเรียนโดยคำนึงถึงมหาวิทยาลัยที่นักเรียนต้องการเข้าศึกษา

วิธีการคัดเลือกหลักคือ สอบสัมภาษณ์ เนื่องจากเป็นระบบที่เกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกบมหาวิทยาลัย จึงสามารถพูดได้ว่าโอกาสสอบผ่านมีสูงมาก เป็นระบบที่มีมากในมหาวิทยาลัยเอกชน มาตราฐานในการสมัครจะดูจากผลการเรียนเฉลี่ยตั้งแต่ชั้นม. 4 จนถึง ม. 6 เทอมต้น (รวมของทุกวิชา) บางมหาวิทยาลัยอาจพิจารณาอัตราการเข้าเรียนด้วย ปกติแล้วจะเริ่มคัดเลือกภายในโรงเรียนในเดือนมกราคม และประกาศผลช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม หากมีผู้สมัครหลายคน จะคัดเลือกจากการสอบเพื่อคัดเลือก และผลการเรียนโดยเฉลี่ย นักเรียนต่างชาติก็สามารถใช้ระบบนี้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้เหมือนกับนักเรียนญี่ปุ่น

  1. การเข้าศึกษาด้วยการแนะนำตัวแบบประกาศทั่วไป

เป็นระบบที่ นักเรียนต้องมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย และได้รับการแนะนำตัวจากผู้แนวยการโรงเรียน จึงจะสมัครได้ ซึ่งระบบนี้ต่างจากระบบการเข้าศึกษาด้วยการแนะนำตัวจากโรงเรียนที่ถูกคัดเลือกตรงที่ โรงเรียนไม่มีโควต้าเฉพาะ การเข้าศึกษาด้วยการแนะนำตัวแบบประกาศทั่วไปของมหาวิทยาลัยของรัฐ นอกจากจะรับจำนวนน้อยแล้ว เงื่อนไขผลการเรียนเฉลี่ยจะตั้งค่าไว้ที่สูงกว่า 4.0 (ระบบของญี่ปุ่นเต็ม 5.0) และมีกรณีที่ต้องสอบข้อสอบส่วนกลางด้วย ในขณะเดียวกัน สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนแล้ว จะรับจำนวนมากกว่า และเมื่อเที่ยบกับมหาวิทยาลัยของรัฐแล้ว เงื่อนไขผลการเรียนเฉลี่ยจะตั้งค่าไว้น้อยกว่า และไม่ค่อยจำเป็นต้องสอบเพิ่มเติม มักจะทำการคัดเลือกโดยพิจารณาเรียงความสั้น การทดสอบความเข้ากันได้ สอบสัมภาษณ์ และผลการเรียนเฉลี่ย นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่พิจารณาจากกิจกรรมนอกหลักสูตร ใบอนุญาต และทักษะพิเศษต่างๆ

  1. การสอบเข้าสำหรับนักเรียนต่างชาติ

แม้จะสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมญี่ปุ่น ก็มีบางมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชนที่ให้สิทธ์ในการสอบเข้าศึกษาต่อในฐานะนักเรียนต่างชาติ ในกรณีนี้ นักเรียนต้องทำการสอบ การสอบเพื่อศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น (Examination for Japanese University Admission for International Students – EJU) เมื่อสอบแล้ว โดยมากก็จะต้องยื่นเรียงความสั้น และสอบสัมภาษณ์กับมหาวิทยาลัย หรือบางมหาวิทยาลัยก็ที่สอบเพียงการสอบสำหรับนักเรียนต่างชาติด้วย (วิชาภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ และสัมภาษณ์) อนึ่ง การสอบเพื่อศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น แต่ละปีจะจัดสอบในเดือนมิถุนายน และพฤศจิกายน โดยองค์กรสนับสนุนนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น (JASSO) วิชาที่จัดสอบคือ ภาษาญี่ปุ่น วิทยาศาสตร์ สหศึกษา และคณิตศาสตร์ ที่โรงเรียนเองก็มีนักเรียนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังได้ด้วยวิธีนี้ และในเนื้อหาวิชาภาษาญี่ปุ่น ก็มีการเตรียมความพร้อมเพื่อสอบวิชาภาษาญี่ปุ่นของการสอบเพื่อศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นด้วย

Q: สามารถเข้าเรียนโรงเรียนวิชาชีพในเครือ แม้จะสำเร็จการศึกษาสายสามัญได้หรือไม่

สำหรับโรงเรียนในเครือ จะมีโรงเรียนวิชาชีพด้านการบินที่จิโตเสะและชิราโออิ ในจังหวัดฮอกไกโด และที่วาจิม่า ในจังหวัดอิชิคาว่า หากเป็นนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการบินญี่ปุ่น ก็สามารถได้รับสิทธิ์พิเศษในการสอบเข้าศึกษาต่อโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะสำเร็จการศึกษาในสายสามัญ หรือสายการบินก็ตามที

Q: ถ้าเข้าเรียนในโรงเรียนการบินญี่ปุ่นแล้ว จะสามารถเป็นนักบินได้แน่นอนหรือไม่

เมื่อเข้าเรียนในโรงเรียนการบินญี่ปุ่นแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเป็นนักบินได้อย่างแน่นอน การเป็นนักบินนั้น จำเป็นต้องเรียนเก่ง ยังมีเรื่องคุณสมบัติที่เหมาะสม และสุขภาพที่แข็งแรงอีกด้วย ที่โรงเรียนการบินญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับโรงเรียนอื่นคือ สามารถทราบถึงความเหมาะสมกับในการเป็นนักบินได้ตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย ซึ่งก็คือในขณะที่ศึกษาอยู่ก็มีการเตรียมความพร้อม (รวมไปถึงการไปศึกษาที่ต่างประเทศ) เพื่อสอบใบอนุญาตขับเครื่องบินส่วนบุคคล หลังจากที่สอบได้ใบอนุญาตขับเครื่องบินส่วนบุคคลจากอเมริกา   สำหรับผู้ที่ต้องการ สามารถสอบใบอนุญาตขับเครื่องบินพานิชย์ได้อีก หากมีใบอนุญาตดังกล่าว ก็จะได้เปรียบในการสมัครเข้าทำงานในสายการบินต่างๆ ในกรณีของญี่ปุ่น การสอบใบอนุญาตระดับธุรกิจเป็นเรื่องยากมาก หลังจากที่ได้เข้าทำงานในสายการบินแล้ว ก็มีกรณีที่นำเอาใบอนุญาติขับเครื่องบินพานิชย์จากอเมริกา มาเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตขับเครื่องบินพานิชย์ของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่การสอบใบอนุญาตในประเทศแม่ของนักเรียนมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าด้วย

ที่วิทยาเขตโนโท จะมี “หลักสูตรนักบิน” สำหรับนักเรียนที่ต้องการเป็นนักบินในอนาคต นอกจากนี้ ที่วิทยาเขตยามานาชิ ก็มี ชมรมการบิน ในกิจกรรมชมรม ซึ่งสามารถสอบใบอนุญาตขับเครื่องบินส่วนบุคคลอย่าง เครื่องร่อน หรือ มอเตอร์ไกลเดอร์ได้

Q: เกี่ยวกับการศึกษาต่อเพื่อเป็นนักบิน

ในปัจจุบัน สำหรับนักเรียนต่างชาติที่ต้องการเป็นนักบินของสายการบิน ก็มีแนวทางสองทางอย่าง เข้าสมัครงานในสายการบินเพื่อเข้าอบรมเป็นนักบินของสายการบินนั้น หรือ สอบใบอนุญาตโดยออกค่าใช้จ่ายเอง ไม่ว่าจะเลือกทางไหน นากจากจะมีข้อสอบข้อเขียนแล้ว ยังมีการทดสอบความเหมาะสมกับการเป็นนักบินที่เข้มงวดอีกด้วย

3 Comments
  1. So, in generally, the school 's main aim is too make students become a pilot right?

  2. Actually, the school provide general education just like other schools, but they also have a program for students who want to be pilots in the future.

  3. ต้องเอาเกรดไปรับรองมั้ยคะ?ถึงจะมีสิทธิ์สอบ

Leave a Reply

Your email address will not be published.